วิทยาลัยเชียงราย

การฝึกงาน

รอบรั้ว CRC การฝึกงาน

ระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการฝึกปฏิบัติงาน

นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยเชียงราย

1. การแต่งกาย

1.1 การฝึกปฏิบัติงานบนหอผู้ป่วย
1.1.1 นักศึกษาหญิงให้ใช้เครื่องแบบฝึกปฏิบัติงานชุดสีม่วงและผ้ากันเปื้อน (Apron) สีขาว ความยาวคลุมเข่า ติดเข็มป้ายชื่อและเข็มชั้นปีบริเวณหน้าอกด้านซ้าย สวมหมวกพยาบาลสีขาวล้วนไม่ติดแถบ นักศึกษาผมยาวให้สวมเนตสีดำเก็บผมให้เรียบร้อย สวมรองเท้าหุ้มส้นสีขาวไม่มีลวดลาย สูงไม่เกิน 1 นิ้ว ถุงเท้าสีขาว นักศึกษาชาย ให้ใช้เครื่องแบบฝึกปฏิบัติงานเสื้อซาฟารีสีขาว ติดเข็มป้ายชื่อและเข็มชั้นปีบริเวณหน้าอกด้านซ้าย สวมกางเกงทรงสแล็คสีขาว รองเท้าหุ้มส้นสีดำ ถุงเท้าสีดำหรือกรมท่า
1.1.2 ให้นักศึกษาแต่งกายชุดฝึกปฏิบัติงานให้เรียบร้อยจากหอพักนักศึกษา ยกเว้นนักศึกษาที่พักอยู่นอกหอพักฯ ให้ผลัดเปลี่ยนแต่งกายในสถานที่ที่คณะฯ จัดไว้ให้บริเวณห้องน้ำชั้น 1 อาคาร 9 เท่านั้น
1.1.3 ไม่อนุญาตให้นักศึกษาสวมชุดฝึกปฏิบัติงานออกนอกพื้นที่ของวิทยาลัย หรือสถานที่ฝึกปฏิบัติงาน

1.2 การฝึกปฏิบัติงานในชุมชน
การฝึกปฏิบัติงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ สถานีอนามัย ชุมชน หรือโรงเรียน ทั้งนักศึกษาหญิงและชาย ให้สวมเครื่องแบบชุดกางเกง คือ เสื้อซาฟารีสีฟ้า (ตามแบบชุดปฏิบัติงานพยาบาลสาธารณสุข) กางเกงผ้าพื้นสีดำ ขาตรงทรงสแล็คเท่านั้น สวมรองเท้าหนังสีดำ หุ้มส้น สูงไม่เกิน 1 นิ้ว

2. การฝึกปฏิบัติงานบนหอผู้ป่วย

2.1 นักศึกษาต้องขึ้นฝึกปฏิบัติงานให้ครบตามจำนวนชั่วโมงที่กำหนดไว้ในแต่ละรายวิชา กรณีมีเหตุจำเป็นต้องขาดการฝึกปฏิบัติงาน นักศึกษาต้องฝึกปฏิบัติงานทดแทนให้ครบตามเกณฑ์ขึ้นต่ำของการฝึกปฏิบัติงาน ทั้งนี้ให้อยู่ในดุลยพินิจของประธานรายวิชาและหัวหน้ากลุ่มวิชา
2.2 กำหนดเวลาในการการฝึกปฏิบัติงานดังนี้
• เวรเช้า (D) ฝึกปฏิบัติงาน เวลา 08.00 – 16.00 น.
• เวรบ่าย (E) ฝึกปฏิบัติงาน เวลา 16.00 – 24.00 น.
• เวรดึก (N) ฝึกปฏิบัติงาน เวลา 24.00 – 08.00 น.
ทั้งนี้ นักศึกษาจะต้องขึ้นฝึกปฏิบัติงานก่อนเวลา อย่างน้อย 30 นาที
ปฏิบัติงานนอกสถานที่ ให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบของแต่ละโรงพยาบาลที่นักศึกษาฝึก
2.3 กรณีที่มีความจำเป็นให้อยู่ในดุลยพินิจของอาจารย์ผู้รับผิดชอบรายวิชานั้นๆ รวมถึงการแลกเปลี่ยนเวลาในการฝึกปฏิบัติงาน ให้อยู่ในดุลยพินิจของอาจารย์นิเทศหรืออาจารย์ผู้รับผิดชอบรายวิชาเท่านั้น
2.4 การเดินทางไปฝึกปฏิบัติงานโดยยานพาหนะของวิทยาลัยนักศึกษาต้องมารอขึ้นรถของวิทยาลัยก่อนเวลาฝึกปฏิบัติงานอย่างน้อย 1 ชั่วโมง

3. การศึกษาดูงานในรายวิชาฝึกปฏิบัติ

ในการศึกษาดูงานรายวิชาฝึกปฏิบัติถือเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกปฏิบัติงานบนหอผู้ป่วย นักศึกษาต้องไม่ออกนอกที่พักที่จัดให้ และอยู่ร่วมกับกลุ่มตลอดระยะเวลาการศึกษาดูงาน

4. การฝึกปฏิบัติงานนอกสถานที่

4.1 นักศึกษาต้องรับผิดชอบตนเองในการฝึกปฏิบัติงานนอกสถานที่ทั้งการเดินทางและสถานที่พัก ทั้งนี้ให้แจ้งอาจารย์ผู้รับผิดชอบรายวิชาทราบเพื่อความสะดวกในการประสานงาน
4.2 กรณีนักศึกษาเจ็บป่วยในระหว่างการฝึกปฏิบัติงาน ให้เข้ารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลนั้นๆ โดยใช้สิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) กรณีอุบัติเหตุ ให้นักศึกษารับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาแล้วนำใบเสร็จรับเงิน ใบรับรองแพทย์ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน มายื่นทำเรื่องขอเบิกเงินคืนที่แผนกการเงิน สำนักอธิการบดี วิทยาลัยเชียงราย ภายหลังเสร็จสิ้นการฝึกปฏิบัติงานแล้ว (ตามวงเงินประกันชีวิตของวิทยาลัย)
4.3 กฎระเบียบการพักนอกสถานที่ของนักศึกษาให้ใช้เกณฑ์หอพักวิทยาลัยฯตามประกาศในคู่มือนักศึกษา

5. การลาของนักศึกษา

5.1 การลาฝึกปฏิบัติงานเมื่อมีเหตุจำเป็นหรือสมควรเท่านั้น
5.1.1การลากิจ ให้นักศึกษาเขียนใบลาโดยผ่านการพิจารณาของอาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์ผู้รับผิดชอบรายวิชา และนำใบลาที่ผ่านการอนุมัติแล้วส่งแก่อาจารย์นิเทศ ให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 2 วันก่อนวันลา และจะต้องขึ้นฝึกปฏิบัติงานชดเชยตามจำนวนการลา
5.1.2 การลาป่วย แจ้งลาป่วยกับอาจารย์นิเทศแล้วนักศึกษาไปรับการตรวจรักษา และให้นำใบรับรองแพทย์ของโรงพยาบาลรัฐเท่านั้นมาแสดงต่ออาจารย์นิเทศประจำตึกนั้นๆ และจะต้องปฏิบัติงานชดเชย ดังนี้
5.1.2.1 กรณีนักศึกษาจำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล (Admit) การขึ้นฝึกปฏิบัติงานชดเชยให้อาจารย์นิเทศร่วมกับอาจารย์ผู้รับผิดชอบรายวิชาพิจารณาว่าสมควรหรือจำเป็นต้องฝึกปฏิบัติงานชดเชยหรือไม่ ทั้งนี้ระยะเวลาการฝึกปฏิบัติรวมกันต้องมากกว่าร้อย 80 ของระยะเวลาฝึกปฏิบัติในวิชานั้น
5.1.2.2 กรณีนอกเหนือจากนี้ให้อาจารย์ผู้รับผิดชอบรายวิชาร่วมกับอาจารย์ฝ่ายวิชาการของคณะฯ พิจารณาร่วมกันแล้วนำเสนอคณะกรรมการบริหารหลักสูตรต่อไป

6. การฝึกปฏิบัติงานชดเชย

6.1 นักศึกษาต้องฝึกปฏิบัติงานชดเชยในรายวิชาที่ขาดการฝึกปฏิบัติ เพื่อให้ครบตามที่กำหนดในรายวิชานั้นๆ ตามดุลยพินิจของอาจารย์ผู้รับผิดชอบรายวิชา โดยนักศึกษาจะต้องรับผิดชอบในการนัดหมายเวลาฝึกปฏิบัติงานชดเชยกับอาจารย์ผู้รับผิดชอบ และเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายสำหรับผู้นิเทศ (600 บาท/นักศึกษา 1 คน/เวร)

7. การกระทำผิดระเบียบการฝึกปฏิบัติงาน

การพิจารณาโทษตามลักษณะการกระทำผิดระเบียบการฝึกปฏิบัติงาน มีดังนี้
7.1 ว่ากล่าวตักเตือน
7.2 ภาคทัณฑ์
7.3 หักคะแนนการปฏิบัติงาน
7.4 ฝึกปฏิบัติงานเพิ่มเติม
7.5 พักการเรียน
7.6 พ้นสภาพจากการเป็นนักศึกษา


แนวทางการฝึกปฏิบัติงานหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล

ระเบียบการฝึกปฏิบัติงานในหอผู้ป่วย

1. ระเบียบการแต่งกาย
1. นักศึกษาหญิงให้ใช้เครื่องแบบฝึกปฏิบัติงานชุดสีขาว ยาวคลุมเข่า ติดป้ายชื่อบริเวณหน้าอกด้านซ้าย สวมเนตสีดำเก็บผมให้เรียบร้อย สวมรองเท้าหนังหุ้มส้นสีขาวไม่มีลวดลาย สูงไม่เกิน 1 นิ้ว ถุงเท้าสีขาว นักศึกษาชาย ให้ใช้เครื่องแบบฝึกปฏิบัติงานเสื้อซาฟารีสีขาว ติดป้ายชื่อบริเวณหน้าอกด้านซ้าย สวมกางเกงทรงสแล็คสีขาว รองเท้าหุ้มส้นสีดำ ถุงเท้าสีดำหรือกรมท่า
2. ให้นักศึกษาแต่งกายชุดฝึกปฏิบัติงานให้เรียบร้อยจากหอพักนักศึกษา
3. ไม่อนุญาตให้นักศึกษาสวมชุดฝึกปฏิบัติงานออกนอกบริเวณวิทยาลัย หรือนอกสถานที่ปฏิบัติงานไปในสถานที่สาธารณะต่างๆ

2. ระเบียบปฏิบัติการฝึกปฏิบัติงานในหอผู้ป่วย
1. เตรียมตัวให้พร้อมทั้งด้านความรู้และวิธีปฏิบัติการช่วยเหลือดูแลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุก่อนการฝึกปฏิบัติ หากเตรียมตัวไม่พร้อมอาจไม่ได้ฝึกปฏิบัติงานในวันนั้น
2. แต่งกายถูกต้องตามระเบียบ และไม่สวมเครื่องประดับ

3. ตรงต่อเวลา ซื่อสัตย์ การฝึกปฏิบัติงานเวรกลางวัน ฝึกปฏิบัติงาน เวลา 08.00-16.00 น. ทั้งนี้นักศึกษาจะต้องขึ้นฝึกปฏิบัติงานก่อนเวลาอย่างน้อย 30 นาที ในแต่ละเวร และปฏิบัติตามกฎระเบียบของโรงพยาบาลที่นักศึกษาฝึกปฏิบัติงาน

4. ขณะฝึกปฏิบัติงาน นักศึกษาต้องปฏิบัติงานดังนี้
4.1 หากทำของใช้ของแตก ชำรุด เสียหาย ให้เก็บชิ้นส่วนที่ชำรุดหรือแตก พร้อมกับแจ้งหัวหน้าเวร หัวหน้าหอผู้ป่วย หรืออาจารย์นิเทศทราบ
4.2 มีกิริยา มารยาท เรียบร้อย สำรวมและรู้จักกาลเทศะ ใช้วาจาสุภาพ ไม่ส่งเสียงดัง
4.3 แนะนำตนเองแก่ผู้รับบริการก่อนลงมือปฏิบัติงานและแจ้งให้ผู้รับบริการทราบเมื่อเสร็จสิ้นการปฏิบัติการ
4.4 ปฏิบัติการช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยด้วยความนิ่มนวล โดยคำนึงความเป็นบุคคลของผู้รับบริการ คำนึงถึงความรวดเร็ว เรียบร้อย ถูกต้อง และปลอดภัย
4.5 เมื่อสงสัยหรือไม่แน่ใจในการปฏิบัติงานให้ปรึกษาอาจารย์นิเทศ หรือพยาบาลเจ้าของไข้
4.6 เมื่อมีการกระทำผิดพลาด บกพร่อง ต้องรีบแจ้งอาจารย์นิเทศ หรือพยาบาลเจ้าของไข้ เพื่อจะได้ช่วยเหลือและแก้ไขได้ทันเวลา
4.7 จัดเก็บเครื่องมือเครื่องใช้ให้ถูกต้องประจำที่ และเรียบร้อยก่อนออกจากจุดปฏิบัติงาน
4.8 ไม่ใช้โทรศัพท์มือถือขณะปฏิบัติงาน
4.9 ไม่ถือวิสาสะในทรัพย์สินของผู้อื่นที่ไม่ใช่ทรัพย์สินของตนเอง
4.10 ไม่ควรอ่านหนังสือ ตำรา หนังสืออ่านเล่น หรือทำงานอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล

5. เมื่อมีความจำเป็นต้องออกจากหอผู้ป่วยขณะฝึกปฏิบัติ ต้องแจ้งให้อาจารย์นิเทศ หัวหน้าหอผู้ป่วยหรือหัวหน้าทีมการพยาบาลทราบทุกครั้ง

6. รับผิดชอบในการฝึกประสบการณ์ให้ครบตามแผนที่กำหนด และหลังเสร็จสิ้นการฝึกปฏิบัติ แต่ละกิจกรรมตามที่กำหนดในสมุดบันทึกประสบการณ์ในแต่ละวัน นักศึกษาต้องรับผิดชอบให้อาจารย์นิเทศเซ็นชื่อทุกวันและตรวจสอบให้ครบก่อนเสร็จสิ้นการฝึกปฏิบัติของรายวิชา

7. รับผิดชอบในการป้องกันตนเองจากการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด ได้แก่ การทำความสะอาดมือ การใช้อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ ถ้ามีแผลที่มือปิดปลาสเตอร์และสวมถุงมือทุกครั้งที่ให้การดูแลผู้ป่วย