คณะสาธารณสุขศาสตร์ วิทยาลัยเชียงราย

ประวัติคณะ

Faculty of Public Health ประวัติคณะ

โครงสร้างคณะสาธารณสุขศาสตร์

 

ความเป็นมา

สถานการณ์ด้านสุขภาพและสาธารณสุขของประเทศไทยในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงจากอดีตในหลายด้านอย่างเห็นได้ชัด ภาวะความเจ็บป่วยและสถานะสุขภาพของประชากรไทยมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงจากโรคติดต่อเป็นโรคไม่ติดต่อมากขึ้น สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการที่ประชาชนมีพฤติกรรมด้านสุขภาพที่ไม่พึงประสงค์ อีกทั้งสังคมไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นั่นหมายความว่ามีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น รัฐจำเป็นต้องให้การดูแลและช่วยเหลือด้านสุขภาพของคนกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น การจัดบริการด้านสุขภาพให้สอดคล้องกับสภาพสังคม จึงต้องให้ความสำคัญของการให้บริการเชิงรุก มากกว่าการให้บริการเชิงรับ โดยเน้นกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี โดยสร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วม สร้างจิตสำนึกในการดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัวและชุมชน มุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคมากกว่าการรักษาเมื่อเจ็บป่วย 

วิทยาลัยเชียงรายเป็นสถาบันอุดมศึกษา ที่ตระหนักถึงการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชนในท้องถิ่นภาคเหนือตอนบน และขอบชายแดนประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนบน ได้มีโอกาสทางการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาและตระหนักถึงความจำเป็นในการผลิตบัณฑิตที่มีความขาดแคลนไปรับใช้สังคมอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะการผลิตบุคลากรทางด้านสาธารณสุข เพื่อตอบสนองการบริการด้านสุขภาพแก่ประชาชน ในการสร้างระบบบริการสุขภาพโดยเร่งรัดพัฒนางานสุขภาพชุมชนและขยายระบบบริการปฐมภูมิแบบเชิงรุกตามจุดเน้น กอปรกับในกรอบคุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์บัณฑิตสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ใหม่ ได้กำหนดคุณสมบัติและความสามารถของบัณฑิตสาขาสาธารณสุขศาสตร์ ที่เน้นความเป็นผู้นำ มีความรับผิดชอบ มีคุณธรรมและจริยธรรม เคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ คิดอย่างเป็นระบบ มีเหตุผลวิเคราะห์และสังเคราะห์สถานการณ์ด้านสุขภาพของชุมชนชนบท ชุมชนเมือง และชุมชนอุตสาหกรรมได้อย่างเป็นองค์รวม วางแผนแก้ปัญหาและปฏิบัติงานสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมได้อย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ ทำงานเป็นทีมและมีมนุษย์สัมพันธ์มีทักษะการสื่อสาร และใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเหมาะสมมีประสิทธิภาพ

คณะสาธารณสุขศาสตร์ วิทยาลัยเชียงราย ก่อตั้งเมื่อปีการศึกษา 2551 ปัจจุบันมี 1 สาขาวิชาคือสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์ในการผลิตบัณฑิตสาขาที่มีความขาดแคลนไปรับใช้สังคมอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะการผลิตบุคลากรทางด้านสาธารณสุข เพื่อตอบสนองการบริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2549) ที่มุ่งเน้น “คนเป็นศูนย์กลาง” รวมทั้งได้อัญเชิญแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และเพื่อสอดคล้องกับแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) ในการสร้างระบบบริการสุขภาพโดยเร่งรัดพัฒนางานสุขภาพชุมชนและขยายระบบบริการปฐมภูมิแบบเชิงรุก เพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาลและส่งเสริมการบูรณาการทางการแพทย์แผนไทย ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นในการสร้างทางเลือกสุขภาพที่ผสมผสานภูมิปัญญาไทยและสากลเข้าด้วยกัน